.ยกระดับเอสเอ็มอี ออนไลน์ เชื่อมนวัตกรรมด้วยปลายนิ้ว – www.smeonline.rmutt.ac.th/62
สสว.จับมือ 5 พันธมิตรปั้นเอสเอ็มอีสู่ตลาดออนไลน์ปีที่ 3
March 13, 2019
กำหนดการ “Content Marketing ทำคอนเทนต์ให้สุด ไม่ต้องหยุดที่แชร์” โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME ปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ระหว่างวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒
March 29, 2019

ยกระดับเอสเอ็มอี ออนไลน์ เชื่อมนวัตกรรมด้วยปลายนิ้ว

คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2562
ชุลีพร อร่ามเนตร
qualitylife4444@gmail.com
5 สถาบันการศึกษา ร่วมกับสำนักงาน ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดโครงการเอสเอ็มอี ออนไลน์ ปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด ดิจิทัล ทู โกลบอล ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยพร้อมแข่งขันในตลาดออนไลน์สากล ผ่านอี-มาร์เก็ตเพลส ชั้นนำระดับโลกและระดับภูมิภาค
โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) รับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสานและตะวันออก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้
ต่อยอดสู่ตลาดออนไลน์สากล
สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของโครงการปีนี้ คือการต่อ ยอด ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการภายใต้แนวคิด ดิจิทัล ทู โกลบอล โดยมุ่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการพร้อมแข่งขันในตลาดออนไลน์ระดับสากล ผ่าน e-Marketplace เช่น Amazon และ Alibaba ขายสินค้าไปทั่วโลก Far-e ขายตลาดจีน Kha-leang.com ขายตลาดเวียดนาม กัมพูชา พม่า เป็นต้น ดังนั้นความร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำในการเปิดอบรมให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการแข่งขันโลกดิจิทัลทั้งระบบ
โดยในปี2562 จะเชื่อมโยง อี-คอมเมิร์ซ เพื่อชุมชน ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 50,000 ราย เตรียมพร้อมสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่า 100,000 ผลิตภัณฑ์และสร้างยอดขายให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 640 ล้านบาท
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและความรู้ RMUTT Innovation & Knowledge Center ที่จตุจักรศูนย์กลางเชื่อมโยงนวัตกรรม องค์ความรู้และงานวิจัยพัฒนาผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ออนไลน์ เรียนรู้การทำธุรกิจออนไลน์ เป็นเรื่องการค้าของประเทศ ขายของได้สร้างพลังและแนวทางยกระดับเอสเอ็มอีของไทย
โดยปีนี้ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ยังไม่ได้ใช้ออนไลน์ในการทำธุรกิจ ยังไม่รู้จักการทำธุรกิจออนไลน์ มหาวิทยาลัยเข้าไปให้ความรู้นำนวัตกรรมงานวิจัยเข้าไปช่วยเหลือนำไปสู่การขายสินค้าบนโลกออนไลน์ 2.กลุ่มที่มีสินค้า มีความรู้แต่ยังไม่ได้มีตลาดออนไลน์กระตุ้นให้พวกเขาเกิดการ เรียนรู้การทำตลาดออนไลน์อย่างมีระบบ และ 3.กลุ่มที่มีสินค้ามีตลาดออนไลน์แต่ไม่สามารถขายสินค้าได้ ส่งเสริมการขายออนไลน์ให้มีคุณภาพ มีตลาดมากขึ้น
ดันเอสเอ็มอีสู่ออนไลน์ 15,080 ราย
2ปีที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำตลาดออนไลน์กว่า 37,000 ราย เตรียมความพร้อมในการถ่ายภาพสินค้าและจัดทำรายละเอียดสินค้ากว่า 67,000 ผลิตภัณฑ์ และสามารถเปิดร้านค้าออนไลน์ได้กว่า 5,000 ร้านค้า และสร้างยอดขายให้ผู้ประกอบการกว่า 240 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะต่อยอดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการก่อนหน้านี้ และผู้ประกอบการเอสเอ็ม อีรุ่นใหม่ไม่น้อยกว่า 15,080 ราย ไม่น้อยกว่า 30,000 ผลิตภัณฑ์ สร้างยอดขายให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท โดยมุ่งพัฒนาสินค้าให้เป็นสินค้าพรีเมียมและมุ่งพัฒนาตลาดที่ใหญ่ขึ้นไม่ได้ขายเฉพาะในประเทศ
เตรียมเอสเอ็มอีแบบก้าวกระโดด
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า มธ.จะนำองค์ความรู้ที่มีในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งนวัตกรรม งานวิจัยมาให้คำแนะนำผู้ประกอบการ โดยได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด จะทำให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี หรือวิสาหกิจชุมชนสามารถจัดสินค้าสู่ในโลกออนไลน์ที่สามารถค้าขายได้และก้าวสู่ระดับประเทศ สากล ผ่านการเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาสินค้า วิเคราะห์ความเสี่ยง ต้นทุน ช่วยหาตลาด ปูพื้นฐานที่สำคัญก็จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้อย่างก้าวกระโดดได้” อธิการบดี มธ.กล่าว
ทั้งนี้โครงการนี้สสว.ได้ให้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ สามารถนำสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้ อาทิ Lazada Shopee Thailandmall Inwmall Tarad.com Priceza และ Wongnai เป็นต้น
ประชาชนที่สนใจติดตามและสมัครเข้าร่วมโครงการกับหน่วยงานร่วมในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ www.smeonline.info Facebook: SMEONLINE BY OSMEP และแอพพลิเคชั่น SME CONNEXT
ขายออนไลน์รายได้เพิ่ม 3 เท่า
สมบัติ พรเจริญ หรืออ้วน อายุ 52 ปี จากกลุ่มแปรรูปปลาตราชู อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ที่เข้ารับการอบรมการทำตลาดออนไลน์กับมทร.ธัญบุรี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม เล่าว่า ปกติขายหน้าร้านและขายตามงานโอท็อปต่างๆ หลังจากได้รับคำแนะนำให้ลองเปิดขายทางไลน์กลุ่ม และในเพจเอสเอ็มอี ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจากปกติที่ขายได้หลักหมื่น เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะชาวบ้านสามารถค้าขายได้ผ่าน อี-มาร์เก็ตเพลส ได้อย่างสะดวกสบาย ผู้ซื้อโอนเงิน และจากนั้นรอรับสินค้า ทำให้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายและมีรายได้เพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดีต่อกลุ่ม เอสเอ็มอี เป็นอย่างมากก็ว่าได้
อ้วนเติบโตมาในครอบครัวที่รุ่นเตี่ยทำปลา ตอนแรกรับซื้อปลาสดไปขาย ต่อมาก็แปรรูปปลาขาย อ้วนเริ่มมาทำเป็นธุรกิจของตัวเองเมื่อปี 2546 มีกลุ่มที่รวมตัวกันประมาณ 15 คน ช่วยกันทำปลาแปรรูปขาย มีหลากหลายชนิดทั้งปลาช่อน ที่ขึ้นชื่อก็ปลาช่อนแม่ลา ปลาดุก ปลารากกล้วย ปลาหลด ทุกชนิดนำมาแปรรูปและส่งขายตามลูกค้าสั่ง ถ้าในช่วงที่มียอดขายเพิ่มมากก็จ้างคนในพื้นที่มาช่วย ทำปลาเพิ่มวันละ 200 บาท เพื่อให้ส่งลูกค้า ทันตามเวลา
“จากเดิมที่ไม่รู้จักการขายออนไลน์ ไม่มีเพจ พอเข้ารับการอบรมก็มีความรู้เกี่ยวกับการค้าออนไลน์เบื้องต้นทำให้สามารถเพิ่มช่องทางการขายทาง อี-มาร์เก็ตเพลส เฟซบุ๊ก ไลน์ ความรู้เกี่ยวกับ เทรนด์ต่างๆ อาทิ เทคโนโลยี รู้จักการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย ความรู้เกี่ยวกับการโปรโมทสินค้า ในอนาคตก็สามารถต่อยอดสินค้าในตลาดสากล อาทิ Amazon Alibaba eBay เป็นต้น รวมทั้งส่งต่อตลาดต่างประเทศได้ ถือเป็นการยกระดับการค้าขายที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน”
อ้วนกล่าว อย่างไรก็ตามหัวใจของการค้าขายออนไลน์ผู้ขายจะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ด้วยการบอกข้อมูลและส่งสินค้าให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามที่สั่งซื้อทุกประการ