รายงาน: หนุนโครงการ SME ONLINE ชูดี-เร็วดันยอดขายรับยุคดิจิทัล
April 30, 2018
สสว. beautynista พร้อม ดีเดย์แคมเปญ SME 1 BAHT ลดราคาสินค้า
May 1, 2018

คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: ‘อี-คอมเมิร์ซ’ไทย’กลัว?-กล้า?’ สร้างระบบพื้นฐาน’ลุยตลาดโลก’

เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ศราวุธ ดีหมื่นไวย์
“อี-คอมเมิร์ซ (E-commerce)” หรือการ ขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ ออนไลน์ ถูกปลุกให้ตื่นตัวอีกครั้ง หลังการมาเยือนของ แจ๊ค หม่า เจ้าของเว็บไซต์ อาลีบาบา ที่หลายคนวิตกกังวลถึงผลที่จะตามมา แต่นี่ก็เป็นกระจกสะท้อนให้ผู้ประกอบการไทย และรัฐเองต้องเร่งสร้างระบบพื้นฐานขึ้นมารองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดค้าขายในโลกใบนี้…
สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มองว่า ตอนนี้มีเอสเอ็มอี (SMEs) ไทยที่กระโดดเข้าไปทำตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” มากขึ้น เพราะมองเห็นความเป็นไปได้ในตลาดออนไลน์ แต่ถ้ามองในภาพรวม ผู้ประกอบการธุรกิจไทยยังมีปัญหาในการทำตลาด และพัฒนาสินค้า เพื่อขายสินค้าออนไลน์
ที่ผ่านมาทางหน่วยงานก็มีโครงการที่เข้าไปพัฒนา แต่พบว่า เอสเอ็มอีไทยหลายรายยังไม่กล้าเข้าทำตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” อย่างเต็มตัว เพราะยังไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี และไม่รู้ว่าจะพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการของผู้ซื้ออย่างไร ขณะที่ผู้ซื้อคนไทย ที่ส่วนหนึ่งยอมรับและซื้อสินค้าของผู้ประกอบการไทย แต่ก็มีส่วนที่ ยังไม่นิยมซื้อสินค้าไทยผ่านออนไลน์ สิ่งนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการไทยเจอ และต้องหาแนวทางแก้ไขให้ตอบโจทย์ความต้องการได้มากขึ้น
ตอนนี้มีผู้ประกอบการบางกลุ่มที่เข้ามาทำตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” แล้วขายไม่ได้ จนต้องถอดใจเลิกทำตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการอีกกลุ่มเข้ามาทำตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” แล้วประสบความสำเร็จ ก็มี…
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการไทยในตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” จะต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยี ที่ต้องมีทีมที่จะเข้าไปศึกษาจริงจัง เพราะในโลก “อี-คอมเมิร์ซ” สินค้าไม่ใช่มีแค่เจ้าเดียว แต่มีผู้ประกอบการอีกหลายพันราย ซึ่ง ต้องคิดว่าทำอย่างไรจะให้สินค้ามีความแตกต่าง?? แล้วผู้ซื้อเลือกที่จะซื้อสินค้า สิ่งนี้…นอกจากจะต้องพัฒนารูปแบบการแนะนำสินค้าแล้ว ยังมีโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องหันมาพัฒนาสินค้าด้วย
และจากที่ แจ๊ค หม่า เข้ามาในไทย แล้วหลายคนกลัวว่า สินค้าจากจีนจะเข้ามาครองตลาด?? จริง ๆ ทุกวันนี้สินค้าจีนก็เข้ามาในหลายธุรกิจอยู่แล้ว ถ้ามองในความเป็นจริง ผู้ประกอบการควรมองวิกฤติเป็นโอกาส ที่ต้องหาโอกาสหรือช่องว่างในการทำตลาด และพัฒนาสินค้า แต่ ตอนนี้ผู้ประกอบการไทยหลายรายยังกล้า ๆ กลัว ๆ กับอุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่
ตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” ในไทย ไม่ใช่มีแค่ อาลีบาบา ที่เข้ามาทำตลาด แต่ยังมีอีกหลายเว็บไซต์ ซึ่งผู้ประกอบการที่เก่ง ๆ จะรู้ว่ามีช่องทางอีกหลายกลุ่มที่สามารถนำเสนอสินค้าได้ทั่วโลก ผ่านหลายเว็บไซต์ที่มีอยู่ เพราะการซื้อขายสินค้าแบบนี้สะดวก ไม่ต้องใช้เงินสด ถ้าผู้ประกอบการเข้าใจกลไกการทำตลาด ก็สามารถจะไปได้ไวกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ยังไม่เข้าใจ
กลุ่มเอสเอ็มอีที่เข้าทำตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” มีทั้งกลุ่มที่เปิดเป็นหน้าร้านอยู่เดิมแล้ว แต่อยากพัฒนาช่องทางการขายสินค้าใหม่ ขณะที่อีกกลุ่มไม่มีหน้าร้าน ซึ่งแนวโน้มในอนาคตผู้ที่ทำตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” จะมองหาพื้นที่เพื่อเปิดหน้าร้านมากขึ้น เมื่อตลาดเริ่มอยู่ตัว
“ถ้ามองตอนนี้ ภาพรวมผู้ประกอบการไทยยังไม่ค่อยมีความพร้อมในการทำตลาดอี-คอมเมิร์ซ แต่ก็พูดได้ว่ามีศักยภาพ เพราะคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัว เพียงแต่จะผลักดันให้ออกมาอย่างไร ซึ่งภาครัฐเองต้องพัฒนาโครงการเพื่อสร้างศักยภาพที่จะเจียระไนเพชรเม็ดงามให้เปล่งประกายในตลาดอี-คอมเมิร์ซ”
สำหรับผู้ประกอบการ สิ่งที่สำคัญคือ ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง อย่ามองว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือไกลตัว แต่ต้องกระโดดเข้าไปในความท้าทายของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าทำได้ผลจะช่วยลดต้นทุน และทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น เพราะสมัยนี้เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ และช่วยเพิ่มช่องทางของตลาดได้มากขึ้น
ผู้ประกอบการที่เข้าทำตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” การทำงานบางอย่างไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด แต่จ้างเอาท์ซอร์ส ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ที่จะทำให้ลดต้นทุนในการทำงาน และทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ระบบการขนส่งโลจิสติกส์
ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มธุรกิจของไทยที่น่าจะรุ่งในตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” ที่มีผู้ซื้อทั่วโลกให้ความสนใจคือ อาหาร และสินค้าเกษตรแปรรูป ที่ถ้ามีการปรับปรุงพัฒนาสินค้าให้ได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อต่างชาติ ผู้ประกอบการจะไปได้ไกลมากขึ้น
“อยากฝากว่าผู้ประกอบการรายใดที่สนใจ สามารถเข้าไปติดต่อขอข้อมูลได้ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. ในพื้นที่ใกล้เคียงได้ตลอด และถ้าผู้ประกอบการอยากทำตลาดอี-คอมเมิร์ซ ไม่ต้องกลัว แต่ต้องเริ่มทำทันที เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงอย่างที่คิดแล้ว” สุวรรณชัย ระบุไว้
ด้าน รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มองจากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า มีคนไทยที่เข้าไปดูเว็บไซต์ “อี-คอมเมิร์ซ” โดยเข้าไปดูแต่ยังไม่ซื้อ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อีก 40 เปอร์เซ็นต์ เข้าไปซื้อสินค้า 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เข้าไปซื้อสินค้าเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งถ้ามองให้ดีจะเห็นว่าตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” ในไทยก็มีทิศทางที่โตขึ้นเรื่อย ๆ
และยังพบว่า คนไทยที่ซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะซื้อเครื่องสำอาง สินค้าสุขภาพ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ส่วนตัว โดยสินค้าที่ผู้ซื้อไทยซื้อยังถือว่าไม่หลากหลาย ด้วยสินค้าบางอย่างคนไทยยังอยากไปซื้อที่ร้าน ที่สามารถเห็นและทดลองสินค้าได้
มองในมุมผู้ประกอบการไทยที่ทำเว็บไซต์ให้บริการ “อี-คอมเมิร์ซ” ตอนนี้มีอยู่ 3 ราย ใหญ่ ๆ ซึ่งการจะแข่งขันกับเว็บไซต์ใหญ่ ๆ ของต่างประเทศ ค่อนข้างลำบาก เพราะสินค้าที่ขายยังมีจำกัด ซึ่งเว็บไซต์อาลีบาบา นอกจากสินค้ามีจำนวนมากแล้ว ยังมีระบบให้กู้เงินผ่านออนไลน์ในจีน กู้ได้สูงสุดประมาณ 500,000 บาท ถ้าผู้กู้ไม่จ่ายเงินก็จะถูกแบล็กลิสต์ในสถาบันการเงินทั้งหมด
“อี-คอมเมิร์ซ” เป็นระบบการจัดการธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เว็บไซต์ขายของใหญ่ ๆ สามารถลดราคาสินค้าบางตัวได้ถูกกว่าท้องตลาด แต่ก็เอากำไรจากสินค้าตัวที่ขายดีมาถัวเฉลี่ยกับสินค้าที่ลดราคา เพื่อให้ไม่ขาดทุน และจะได้ดึงลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามา
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคตคือ ระบบข้อมูลพื้นฐาน ที่รวบรวมและวิเคราะห์ถึงความต้องการของผู้คนในประเทศไทย ตอนนี้ข้อมูลไม่ได้อยู่ในไทย แต่ตกอยู่ในมือของต่างชาติ อย่างเฟซบุ๊ก ที่มีข้อมูลรั่วไหลในช่วงเลือกตั้งสหรัฐ สิ่งนี้…ถ้าภาครัฐไม่ทำอะไร ต่อไปข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ก็จะถูกกลุ่มทุนต่างชาติดึงเข้าไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ
กับ “อี-คอมเมิร์ซ” ก็เช่นกัน รัฐควรส่งเสริมให้มีเว็บไซต์ “อี-คอมเมิร์ซ” ของคนไทยที่แข่งขันได้ในระดับโลก และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถมาลงขายของได้ฟรี และทำการโปรโมตอย่างจริงจัง ซึ่งพอติดตลาด มีข้อมูลความต้องการสินค้าของคนไทยมากพอ รัฐก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาประเทศได้อีกหลายด้าน
“วันข้างหน้า ถ้าเราพัฒนาดี ๆ เรื่องไอทีเราสามารถพัฒนาได้ทัน แต่เรื่องคุณภาพสินค้า และเรื่องคน เป็นสิ่งที่ไทยต้องเร่งพัฒนา สิ่งนี้ทำให้หลักสูตรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยไทยต้องปรับเปลี่ยน เพราะการตลาดของอี-คอมเมิร์ซ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลักสูตรในระยะยาว 4 ปี อาจไม่ทันกับโลกออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นหลักสูตรระยะสั้นจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก” รศ.ดร.ประเสริฐ ระบุ พร้อมทั้งบอกด้วยว่า สิ่งสำคัญ อยากให้กำลังใจเอกชนที่ทำตลาด “อี-คอมเมิร์ซ” อยู่ตอนนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วภาครัฐควรสนับสนุนเรื่องภาษี หรือเงินทุนพัฒนาสินค้า เพื่อที่จะแข่งขันได้ในระดับโลก
…”อี-คอมเมิร์ซ” กับความวิตกกังวลของหลาย ๆ คน หากเปลี่ยนมุมมองให้เป็น “โอกาส” และเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ไม่แน่ว่า…ในอนาคตประเทศไทยจะมี “ผู้ประกอบการไทยหน้าใหม่ ๆ ที่แข่งขันได้” เพิ่มขึ้นอีกมาก…
ในตลาดระดับโลก.
“หลายรายยังกล้า ๆ กลัว ๆ กับอุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่”