แหล่งที่มา https://www.thebusinessplus.com/rmutt-sme-tu-ssru-nfi-smeeastern-project-2565/.
สสว. เปิดโครงการยกระดับผู้ประกอบการรายย่อย ปีงบประมาณ 2565 ผลักดันเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาครัฐ ด้านมาตรฐานสินค้าและเทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งเป้ากว่า 1,300 รายทั่วประเทศ ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในยุค New Normal และ Next Normal ผสาน 5 หน่วยร่วม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สถาบันอาหาร และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มทร.ธัญบุรี บางซื่อจังชั่น จตุจักร
รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการเข้าสู่ระบบของภาครัฐ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ประกอบการ และดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในยุค New Normal และ Next Normal โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องอาศัยเงินหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโครงการยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยหรือ MSME Step up ปีงบประมาณ 2565 จะมุ่งเน้นผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องการการส่งเสริมและยกระดับในด้านต่าง ๆ โดยให้ความรู้และสร้างทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ การเลือกใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำการตลาดยุคดิจิทัล การยกระดับมาตรฐานสินค้า การทำบัญชีที่ถูกต้อง เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่นโดยโครงการดังกล่าว มีด้วยกันทั้งหมด 2 กิจกรรมหลัก และมีหน่วยร่วมดำเนินการดูแลเป็นการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ กิจกรมแรกเป็นการยกระดับ SME ด้านมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน อย. กฎระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอนการขอมาตรฐาน อย. การทำฉลากโภชนาการ การประเมินสถานที่ผลิต และให้คำปรึกษาในการเตรียมยื่นขอมาตรฐาน อย. โดยสถาบันการอาหารเป็นผู้ดูแลจำนวน 200 ราย ทั่วประเทศ
ส่วนอีกกิจกรรมคือกิจกรรมส่งเสริมการประกอบการเพื่อเข้าสู่ระบบของภาครัฐ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ดำเนินการ 4 พื้นที่ คือ (1) กรุงเทพมหานคร ภาคกลางและภาคตะวันออก 19 จังหวัด โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (2) ภาคเหนือ 17 จังหวัด โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ (4) ภาคใต้และภาคตะวันตก 21 จังหวัด โดยสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเป็นกิจกรรมที่มุ่งให้ความรู้ และสร้างทักษะในการนําเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน หรือระบบงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ จากนั้นจะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อสร้างประสบการณ์ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในการประกอบการ พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการขาย และผลักดันเข้าสู่ระบบภาครัฐ
ด้าน รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในฐานะหน่วยร่วมดำเนินการฯ กล่าวว่า ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี จะดูแลผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ซึ่งเราได้รับความเชื่อมั่นจาก สสว. ให้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2560 ที่ถือเป็นการให้บริการวิชาการหรือนวัตกรรม แก่ภาคประกอบการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ชุมชม และสังคม สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของ มทร.ธัญบุรี ในการเคียงข้างชุมชน สังคมและผู้ประกอบการ และเชื่อมั่นว่าโครงการ MSME Step up ปีงบประมาณ 2565 นี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจและยืนหยัดต่อไปในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ นายนิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ธัญบุรีในฐานะผู้แทนหน่วยร่วมดำเนินการฯ กล่าวเสริมว่า กิจกรรมยกระดับเอสเอ็มอีด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและมาตรฐานสินค้านี้ มุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ไม่เกิน1.8 ล้านบาทต่อปี โดยเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับการประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งเพิ่มกระบวนการสร้างประสบการขายผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้มียอดขายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ระบบการค้าภาครัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการซื้อขายกับหน่วยงานภาครัฐได้ตามมาตรการ SME-GP ของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ โดย มทร.ธัญบุรี รับผิดชอบดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลางและภาคตะวันออก รวมทั้งหมด 19 จังหวัด คือ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว
ทั้งนี้ จากประสบการณ์การดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญจากคณาจารย์ ทีมวิทยากรมืออาชีพ จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเห็นภาพชัดเจน ก่อให้เกิดแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะตัว สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ได้รับการยอมรับและที่สำคัญสร้างยอดขายอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ เว็บไซต์ www.smeonline.rmutt.ac.th/stepup65 หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 549 4004, 090 916 2227 และ 097 278 8879